Ayurveda

อายุรเวท มาจากภาษาสันสกฤตว่า  อายุส แปลว่าชีวิต และเวท แปลว่า ศาสตร์   รวมแปลว่าศาสตร์แห่งชีวิต (Science of Life)

อายุรเวทมีพื้นฐานจากศาสนาฮินดู   เป็นองค์รวมของวิชาการ ศาสนา และปรัญชา   เป็นสาขาหนึ่งของพระเวท ซึ่งมีมามากกว่า 4000 ปีแล้ว   โดยถือว่ามนุษย์เป็นจักรวาลย่อย (microcosmos)   การมีอยู่เป็นอยู่ของแต่ละบุคคลไม่สามารถแยกได้จากจักรวาลใหญ่ (macrocosmos) ที่อยู่รอบได้   ในส่วนของสุขภาพ สุขภาพที่ดีได้แก่การปราศจากความเจ็บป่วย และมีชีวิตอย่างสมบูรณ์ทั้งทางกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ

ปรัชญาพื้นฐาน
ตามปรัชญาที่มีมาแต่โบราณของอินเดีย   สรรพสิ่งเกิดจาก 2 สิ่งคือ ปุรุษะ (purusha, จิตสำนึก) และประกฤติ (prakruti, ธรรมชาติ แรงของการสร้างสรรค์)   ประกฤติเกิดจากปุรุษะ   และต่อไป ก่อให้เกิดมหัต (mahat) หรือพุทธิภาวะ (buddhi) ซึ่งหมายถึงการตื่น ความชาญฉลาด   ความชาญฉลาดก่อให้เกิด ego หรืออหังการ (ahamkara) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการแยกสิ่งต่างๆ จากความเป็นหนึ่งเดียว   เกิดเป็น 3 คุณะ (guna) คือ
1. สัตตวะ (sattva) หมายถึงความสว่าง ความบริสุทธิ์ การสร้างสรรค์
2. รชัส (rajas) หมายถึงพลังงาน อารมณ์ การเคลื่อนไหว คุณธรรม การคุ้มครองรักษา
3. ตมัส (tamas) หมายถึงความเฉื่อย ถดถอย ความคงสภาพ
การเคลื่อนสู่สัตตวะหรือตมัส ต้องใช้รชัส   สัตตวะและตมัสเป็นจุดกำเนิดขององค์ประกอบพื้นฐานของสรรพสิ่ง   โดยมีความสัมพันธ์กัน   ทำให้มนุษย์สามารถสัมผัสกับสิ่งที่อยู่รอบได้    ดังนี้

สัตตวะ อวัยวะรับความรู้สึกทั้ง 5 หู ผิวหนัง ตา ลิ้น จมูก
  อวัยวะทำหน้าที่ทั้ง 5 อวัยวะสร้างเสียง มือ เท้า อวัยวะเพศ ลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย
  จิตใจ          
ตมัส ปัญจมหาภูตะ อากาศ ลม ไฟ น้ำ ดิน

องค์ประกอบของมนุษย์
สรรพสิ่งประกอบด้วยปัญจมหาภูตะ (5 elements) ได้แก่ดิน น้ำ ลม ไฟ และอากาศ (ช่องว่าง)
ในระบบสรีระของมนุษย์ของมนุษย์   ปัญจมหาภูตะจะรวมเป็น 3 กลุ่ม เรียกว่าโทษะ (dosha) ได้แก่
1. วาตะ (vata) คืออากาศรวมกับลม
2. ปิตตะ (pitta) คือไฟรวมกับน้ำ
3. กพะ (kapha) คือดินรวมกับน้ำ

บุคคลสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภทหลัก ตามโทษะที่เด่น คือ  
1. คนกลุ่มวาตะโทษะ   จะมีรูปร่างผอม บางโปร่ง   ผิวคล้ำ  ผิวหนังเย็น หยาบ แห้ง   ร่างกายสูงมากหรือเตี้ยมาก   โครงร่างเบาบาง   ปลายกระดูกนูนชัด   กล้ามเนื้อเจริญไม่ดี   ผมหยิกบาง  เป็นต้น
2. คนกลุ่มปิตตะโทษะ   จะมีรูปร่างสูงปานกลาง   กล้ามเนื้อเจริญปานกลาง   ผิวนุ่ม อุ่น  ผมละเอียด บาง   ผมหงอกล้านก่อนวัย  เป็นต้น
3. คนกลุ่มกผะโทษะ   ร่างกายจะสมบูรณ์ดี   มีแนวโน้มน้ำหนักมากเกิน   ผิวหนังหนา   กล้ามเนื้อเจริญสมบูรณ์   ผิวหนังสดใส นุ่ม ละเอียดเป็นมัน  ผมดก  เป็นต้น
แต่ก็มีโอกาสที่บุคคลมีลักษณะเด่นมากกว่า 1 โทษะ เช่น  วาตะ-ปิตตะ  ปิตตะ-วาตะ   ปิตตะ-กผะ  กผะ-ปิตตะ  วาตะ-กผะ   กผะ-วาตะ  และวาตะ-ปิตตะ-กผะ 

ร่างกายมนุษย์ประกอบด้วยเนื้อเยื่อหรืออวัยวะ 7 อย่าง  เรียกว่าธาตุ   แต่ละธาตุจะมีส่วนประกอบของมหาภูตะที่แตกต่างกัน   ธาตุทั้ง 7 ได้แก่ rasa (น้ำเหลือง)   rakta (เลือด)  mamsa (เนื้อ)  meda (ไขมัน)   asthi (กระดูก)  majja (ไขกระดูก)  sakra (น้ำอสุจิ ไข่)
ร่างกายมีการขับถ่ายของเสีย 3 แบบ เรียกว่ามละ  ได้แก่ มูตร (ปัสสาวะ)   สกฤต (อุจจาระ)  และเสวทะ (เหงื่อ)

ส่วนประกอบที่ละเดียดที่สุดของธาตุคือโอชะ (ojas)  เป็นพลังงาน ความมีชีวิต

นอกจากนี้ มนุษย์ยังประกอบด้วยจิตใจ และอาตมัน (ชีวาตมัน)   อาตมันคือจิตวิญญาณ เป็นจิตแท้ดั้งเดิมของแต่ละบุคคล ที่แยกมาจากวิญญาณดั้งเดิมสูงสุดในจักรวาลที่เรียกว่าปรมาตมัน

ทฤษฎีไตรโทษะ
วาตะ คือลมชีวภาพ หมายถึงการเคลื่อน   ทุกสิ่งในร่างกายที่สามารถเคลื่อนหรือไหลได้   เรียกว่าปราณะ (prana)   ปราณะคือพลังชีวิต
ปิตตะ คือไฟชีวภาพ   หมายถึงความร้อนทุกชนิดในร่างกาย   ชนิดที่สำคัญคืออัคนี (agni)   อัคนีคือไฟแห่งชีวิต  
กผะ คือน้ำชีวภาพ   หมายถึงโครงสร้างพื้นฐานของร่างกาย

ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงของไตรโทษะตลอด ตามช่วงวัน ฤดุกาล  ตามวัย เป็นต้น   เช่นวัยเด็กมีการเสริมสร้าง กผะจเด่น  วัยหนุ่มสาว ปิตตะจะเด่น   และวาตะเด่นในวัยชรา   ไตรโทษะต้องอยู่ในสภาวะสมดุล จึงจะมีสุขภาพที่ดี   สรรพสิ่งจะมีผลต่อสมดุลของโทษะ

การเกิดโรค
การเกิดโรคเกิดจาก 3 ปัจจัย
1. โทษะ เกิดการไม่สมดุล
2. อัคนี เช่นไฟน้ำย่อย   ถ้าทำหน้าที่ไม่สมบูรณ์ เนื่องจากโทษะไม่สมดุล   จะมีสิ่งตกค้างในลำไส้ใหญ่   สารที่เกิดจากการย่อยไม่ดีเรียกว่า อามะ (ama)  ทำให้เกิดการอุดตัน เป็นพิษ  ทำให้ภูมิต้านทางลดลง
3. โสรตัส (srotus)  คือช่องทางทุกชนิดในร่างกาย   เช่นทางเดินอาหาร  หลอดเลือด   ต้องไม่ตีบตัน   ถ้าการไหลเวียนไม่สะดวก   จะก่อให้เกิดอามะ
เมื่อมีการสะสะของอามะ   ก็จะมีอาการของโรคตามมาในที่สุด

ลักษณะของอาการเจ็บป่วยสามารถจำแนกเป็น 3 กลุ่ม ตามชนิดของโทษะที่มีมากเกินไป   ดังนี้
1. โรคกลุ่มวาตะ  มีลักษณะเย็น แห้ง เบา  เช่นซูบผอม ปวดข้อ อาหารไม่ย่อย ท้องผูก
2. โรคกลุ่มปิตตะ   มีลักษณะร้อน ชื้น เบา   เช่นไข้ อาการอักเสบร้อนแดงที่ผิวหนัง ติดเชื้อ เจ็บคอ มีแผลในกระเพาะอาหาร เหงื่อมาก ท้องเสีย เลือดออก อยากอาหาร
3. โรคกลุ่มกผะ  มีลักษณะเย็น เปียก หนัก   เช่นหวัด ไข้ หอบหืด หลอดลมอักเสบ มีเสลด   เนื้องอก  โรคหัวใจ

การวินิจฉัยโรค
ต้องทราบกลุ่มปกติของโทษะของผู้ป่วยก่อน   ถามประวัติ ตรวจนร่างกาย เช่นตรวจตา ริมฝีปาก ลิ้น   ตรวจชีพจร  เป็นต้น

สมุนไพร
สมุนไพรตามอายุรเวท มีลักษณะเช่นเดียวกับร่างกายมนุษย์   คือประกอบด้วยปัญจมหาภูตะ และมีโทษะเด่น
ส่วนต่างๆ ของพืชประกอบด้วยมหาภูตะที่เด่นต่างกัน ดังนี้

โทษะเด่น ส่วนของพืชสมุนไพร มหาภูตะเด่น
กผะ ราก ดิน
กผะ เปลือก น้ำ
ปิตตะ ดอก ไฟ
วาตะ ใบ ลม
วาตะ ผล อากาศ
ทั้ง 3 โทษะ เมล็ด ทั้ง 5 มหาภูตะ

พืชสมุนไพรสามารถแบ่งเป็น 3 กลุ่มตามโทษะเด่น
1. พืชกลุ่มวาตะ   มีลักษณะใบน้อย เปลือกหยาบ เป็นร่อง กิ่งคด เป็นตะปุ่มตะป่ำ ต้นสูงเพรียว มียางน้อย
2. พืชกลุ่มปิตตะ   มีลักษณะสดใส  ดอกสีสดใส   มียางปานกลาง  อาจมีพิษ
3. พืชกลุ่มกผะ  มีลักษณะโตไว ใบมาก มียาง เนื้อแน่น หนัก อวบน้ำ  มีน้ำมาก

พืชสมุนไพรจะแสดงผลต่อมนุษย์ตามโทษะของพืชชนิดนั้น

นอกจากนี้ พืชยังประกอบด้วยเนื้อเยื่อหรืออวัยวะ 7 อย่างเหมือนมนุษย์   ซึ่งจะมีผลต่อมนุษย์ ดังนี้
            น้ำในส่วนต่างๆ   มีผลต่อน้ำเหลือง
            resin มีผลต่อเลือด
            เนื้อไม้   มีผลต่อเนื้อ
            gum   มีผลต่อไขมัน
            เปลือกต้น   มีผลต่อกระดูก
            ใบ   มีผลต่อไขกระดูก
            ดอกและผล   มีผลต่ออวัยวะสืบพันธุ์

และพืชก็มีโอชะ   ซึ่งถ้าใช้สมุนไพรด้วยความรัก   ก็จะส่งทอดมายังมนุษย์ได้   สมุนไพรบางชนิดมีโอชะมาก เช่น Withania sommifera

คุณสมบัติของสมุนไพรที่มีผลต่อมนุษย์ ได้แก่
1. รส (rasa)  แบ่งเป็น 6 รส   แต่ละรสประกอบด้วยมหาภูตะต่างกัน คือ
            เปรี้ยว -   ดิน ไฟ
            หวาน -   ดิน น้ำ
            ฝาด - ลม ดิน
            เค็ม - น้ำ ไฟ
            เผ็ด - ไฟ ลม
            ขม - ลม อากาศ

2. พลังร้อน-เย็น (virya)   โดยพลังร้อนจะเพิ่มปิตตะ   ลดวาตะและกผะ    ในขณะที่หลังเย็นจะลดปิตตะ เพิ่มวาตะและกผะ   สมุนไพรที่ร้อนจะมีอัคนีซึ่งสามารถส่งทอดมาให้มนุษย์ได้   สามารถเรียงรสของสมุนไพรที่มีพลังร้อนไปหาเย็นดังนี้
ร้อน   เผ็ด - เปรี้ยว - เค็ม - หวาน -  ฝาด - ขม   เย็น

3. ความแห้ง-ชื้น   ความแห้งจะเพิ่มวาตะ ลดกผะ   ความชื้นจะเพิ่มกผะ ลดวาตะ
สามารถเรียงรสของสมุนไพรจากความแห้งไปหาความชื้น ได้ดังนี้
แห้ง  เผ็ด - ขม - ฝาด - เปรี้ยว - เค็ม - หวาน   ชื้น

4. ความเบา-หนัก   ความเบาทำให้น้ำหนักลด เพิ่มการย่อยอาหาร   ความหนักจะเพิ่มน้ำหนัก ทำให้ร่างกายมีความแน่น
สามารถเรียงรสของสมุนไพรจากความเบาไปหาความหนัก ได้ดังนี้
เบา   ขม - เผ็ด - เปรี้ยว -   ฝาด - เค็ม - หวาน   หนัก

5. วิปากะ (vipaka)   เมื่อสมุนไพรผ่านกระบวนการย่อย   จะมีรสที่เปลี่ยนไป   เรียกรสที่เปลี่ยนไปนี้ว่าวิปากะ   การเปลี่ยนแปลงของรสและผลต่อโทษะมนุษย์ เป็นดังนี้
                    หวาน เค็ม ---> หวาน ---> เพิ่มกผะ   ลดวาตะ ปิตตะ 
                    เปรี้ยว ---> เปรี้ยว ---> เพิ่มปิตตะ
                    ขม ฝาด เผ็ด ---> เผ็ด ---> เพิ่มวาตะ  ลดกผะ  ใช้นานๆ จะเพิ่มปิตตะ

การรักษาโรค
การรักษาโรคของอายุรเวทมี 2 แนวทาง   คือการรักษาทางกายและการรักษาทางจิตใจ (mantra และ yantra) จะกล่าวเฉพาะการรักษาทางกาย โดยเน้นการใช้สมุนไพร
1. โรคกลุ่มวาตะ  มีลักษณะเย็น แห้ง เบา   จึงใช้สมุนไพรรสหวาน เปรี้ยว เค็ม ซึ่งมีคุณสมบัติตรงข้าม คืออุ่น ชื้น และหนัก  สามารถใช้สมุนไพรรสเผ็ดซึ่งมีคุณสมบัติร้อนเพื่อลดความเย็น   แต่เนื่องจากรสเผ็ดมีความแห้ง   จะเพิ่มวาตะ   จึงให้ใช้ได้เฉพาะระยะสั้นๆ   และห้ามใช้รสเผ็ดถ้ามีอาการขาดน้ำ  
กรณีท้องผูก ใช้ยาระบาย   การรักษาโดยทำให้อาเจียนจะเป็นการกำจัดวาตะที่แรงที่สุด

2. โรคกลุ่มปิตตะ   มีลักษณะร้อน ชื้น เบา   การทำให้เย็นเป็นการรักษาอันดับแรก   จะใช้สมุนไพรรสขม ฝาด หวาน ซึ่งมีคุณสมบัติเย็น  นอกจากนี้ เนื่องจากมหาภูตะพื้นฐานของปิตตะคือไฟและน้ำ   น้ำอาจลดไฟย่อยอาหารจนเกิด ama (จะทำให้มีอาการเบื่ออาหาร ลิ้นเหลือง ปัสสาวะอุจจาระสีเหลือง ลมหายใจเหม็น ปากมีรสขม เปรี้ยว)   จึงสามารถให้สมุนไพรรสเผ็ดเพื่อเพิ่มไฟย่อยอาหาร   แต่ต้องใช้ร่วมกับสมุนไพรรสอื่นๆ   เพราะรสเผ็ดจะทำให้ปิตตะรุนแรงขึ้น   หรือใช้สมุนไพรรสขม   โดยอาศัยคุณสมบัติแห้งของรสขมเพื่อเพิ่มไฟย่อยอาหาร โดยไม่ทำให้ปิตตะรุนแรงขึ้น    การลดน้ำก็เป็นการรักษาอีกแนวทางหนึ่ง   โดยการให้สมุนไพรขับปัสสาวะ   หรือระบาย

3. โรคกลุ่มกผะ    มีลักษณะเย็น เปียก หนัก  จะใช้สมุนไพรรสขม ฝาด เผ็ด เนื่องจากรสขมและเผ็ดมีคุณสมบัติเบาและแห้ง   รสฝาดมีคุณสมบัติค่อนข้างแห้ง   และรสเผ็ดมีคุณสมบัติร้อน 
นอกจากนี้ เนื่องจาก มหาภูตะพื้นฐานของกผะคือดินและน้ำ   การรักษาแนวทางอื่นได้แก่
การลดดิน  โดยการอดอาหาร
การลดน้ำ   ขับน้ำออกจากร่างกาย โดยใช้สมุนไพรขับปัสสาวะ ขับเหงื่อ ขับเสมหะ
การทำให้อาเจียนเป็นการลดกผะที่แรงที่สุด

การบำรุงรักษาชีวิต
อายุรเวทให้ความสำคัญกับการบำรุงชีวิตให้สมบูรณ์อยู่ตลอดเวลา   เพื่อมิให้เกิดการเจ็บป่วย   โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขจัดพิษออกจากร่างกาย ทำลายพิษในร่างกาย   และรักษาสมดุล 

ปัญจกรรมะ (panchakarma)   ประกอบด้วย 3 ขั้นตอนคือ
1. การเตรียมตัว (ปุรวกรรมะ)
     1.1) ปาจนะ (pachana)   ใช้สมุนไพรประเภทช่วยย่อย ช่วยให้อัคนีทำงานดีขึ้น
     1.2) เสนหนะ (snehana)   ทานวดตัวด้วยน้ำมัน เช่นน้ำมันงา   เรียกว่าอัภยังคะ (abhayanga)   หรือนอนหงายแล้วหยอดน้ำมันงาที่อุ่นๆ บริเวณหน้าผาก เรียกว่าศิโรธานะ (shirodhana)  หรือดื่มน้ำมันเนย   มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยขยายโสรตัส
BHU_hospital5.jpg (25928 bytes) shirodhana
     1.3) เสวทนะ (swedana)   คือการใช้ความร้อน   เช่นอาบน้ำร้อน  อบไอน้ำ   ดื่มน้ำร้อน เป็นต้น
2. ประธานกรรมะ
     2.1) วมนะ (vamana)   การทำให้อาเจียน
   2.2) วิเรจนา (virechana)   การใช้ยาถ่าย
     2.3) นาสิยา (nasya)   การใช้ยาหยอดจมูก
     2.4) พาสติ (basti)   การสวนอุจจาระ
     2.5) รัชตะ โมกษะ (rajta moksha)   การทำให้เลือดออก   เช่นใช้ปลิง
3. กระบวนการหลังทำปัญจกรรมะ (ประสาทกรรมะ)
     3.1) เปยาติ สัมสารชะนา กรรมะ (peyadi samsarjana karma)   การบำรุงด้วยอาหาร
     3.2) ศมนะ (shamana)   การทำลายโทษะที่ไม่ดี   โดยการใช้สมุนไพร
     3.3) รสายนะ (rasayana)   การทำให้ชีวิตยืนและเยาว์   ให้ยาเสริมกำลัง เช่นตรีผลา (triphala) ซึ่งประกอบด้วยผลไม้ 3 ชนิดคือ มะขามป้อม สมอไทย และสมอพิเภก

อาหาร
การดูแลการรับประทานอาหาร จะช่วยรักษาสมดุลของไตรโทษะ   ตามอายุรเวทจะคำนึงถึงรสของอาหารเป็นหลัก     เนื่องจากรสของอาหารมีพื้นฐานของปัญจมหาภูตะ เช่นเดียวกันพืชสมุนไพรที่กล่าวมาแล้ว

ในแต่ละมื้ออาหารควรได้รับอาหารทุกรส   มีข้อเสนอแนะการรับประทานอาหารสำหรับบุคลแต่ละกลุ่มโทษะ ดังนี้

  รสอาหารที่แนะนำ รสอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง อื่นๆ
1.กลุ่มวาตะโทษะ     หวาน เปรี้ยว เค็ม  ขม เผ็ด ฝาดมัน   เครื่องดื่มที่เย็น ฤดูหนาว วาตะจะเพิ่ม  ให้ดื่มของร้อนๆ  
2.กลุ่มปิตตะโทษะ     หวาน ขม ฝาดมัน เผ็ด เปรี้ยว เค็ม ฤดูร้อน ควรรับประทานของเย็นๆ
3.กลุ่มกผะโทษะ เผ็ด ขม ฝาดมัน หวาน เปรี้ยว เค็ม ไม่ควรรับประทานอาหารก่อน 10:00 น และหลังอาทิตย์ตกดิน   อาหารเย็นควรเป็นอาหารเบาๆ   ฤดูฝนควรลดอาหารลง   เพราะกผะจะเพิ่ม

นอกจากนี้ ยังแนะนำให้อดอาหารเป็นครั้งคราว   เพื่อให้อัคนีเผาพิษที่สะสมในทางเดินอาหาร   อาจดื่มน้ำจากสมุนไพรที่เผ็ดร้อนเพื่อช่วยจุดไฟอัคนี   ดื่มน้ำแทนอาหาร วันละ 1-2 ลิตร   ระยะเวลาการอดขึ้นกับว่า หากอดแล้วพละกำลัง ความมีชีวิตชีวาลดลง   ก็ให้หยุด

อื่นๆ
นอกจากปัญจกรรมะและการดูแลอาหาร   ยังต้องขจัดอารมณ์ที่ไม่ดี   ฝึกจิตสมาธิ ให้มีสติรู้ทันอารมณ์    มีกระบวนการให้ปฏิบัติตนเป็นประจำใน ช่วงวัน ช่วงปี และช่วงอายุ เรียกว่าจริยา (charya)   และการฝึก
โยคะอาสนะ (yoga asana)

บรรณานุกรม
- เฉลียว ปิยะชน อายุรเวท ศาสตร์แห่งชีวิต  พิมพ์ครั้งที่ 2   สถาบันการแพทย์แผนไทย   กระทรวงสาธารณสุข   โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก กรุงเทพฯ 2537
- Frawley, D. and Lad, V.  The Yoga of Herbs. An Ayurvedic guide to herbal medicine. (Reprint). Motilal Banarsidass publishers, Delhi. 2000. 

back.jpg (806 bytes)